Skip to content Skip to footer

“โครงการแข่งขันการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการชดเชยคาร์บอนในหน่วยธุรกิจขนาดเล็กครั้งที่ 1/2566”

มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน ผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนดำเนินโครงการแข่งขันการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการชดเชยคาร์บอนในหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก ครั้งที่ 1/2566 วันที่ 10-11 สิงหาคม 2566 โดยมี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้เกียรติเข้าร่วมกล่าวปิดโครงการฯ ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาระบบการชดเชยคาร์บอนสำหรับหน่วยธุรกิจขนาดเล็กในธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งสาธารณะ และสถานประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับ SMEs ในการปรับตัวเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมายประเทศไทยในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

ดร.สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชนมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero โดยเฉพาะการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการการซื้อขายคาร์บอนที่กำลังเป็นกระแสของโลก ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการนี้ จะเปิดโอกาสให้น้องๆ นักศึกษาได้ใช้ความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีมาพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนากลไกเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งต้องขอขอบคุณหน่วยภาครัฐและเอกชนทั้ง 8 หน่วยงาน ที่ให้การสนับสนุนโครงการครั้งนี้ อาทิ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก , สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ,  บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) , ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย , บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด , คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท เอสโคโพลิส จำกัด

คุณพรอรัญ สุวรรณพลาย กรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า โครงการแข่งขันการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อการชดเชยคาร์บอนในหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก ครั้งที่ 1/2566 มีเยาวชน นิสิตนักศึกษในระดับปริญญาตรีขึ้นไป สมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 13 ทีม และมีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้

รางวัล ชนะเลิศ ทุนการศึกษา 200,000 บาท ได้แก่ ทีม Greenieจาก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาการเงิน

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ทุนการศึกษา 100,000 บาท ได้แก่ ทีม Carbonzero จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2ทุนการศึกษา 50,000 บาท ได้แก่ ทีม Chestnut จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3ทุนการศึกษา 20,000 บาท ได้แก่ ทีม CC Da Rock!!! จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาสิ่งแวดล้อม

รางวัลชมเชย มูลค่ารางวัลละ 10,000 บาท 3 รางวัล ได้แก่

(1) ทีม Deviateจาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง สาขาคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์

(2) ทีม Viridis จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล

(3) ทีม Steve จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ภายในงาน มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชนจัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือกับ หน่วยงานเอกชน ในการส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็กได้มีส่วนร่วมในการตระหนักถึงความเป็นสังคมคาร์บอนต่ำเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ระหว่าง บริษัท เอสโคโพลิส จำกัด และ บริษัท เคเชอร์ เพย์เมนท์ จำกัด ในการขยายช่องทางการซื้อคาร์บอนเครดิตรองรับการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ เพื่อสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ ได้มีโอกาสส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ หรือ Green Tourism  ผ่านการซื้อคาร์บอนเครดิตพร้อมกับการชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการ เพื่อชดเชยจำนวนคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การเข้าพักในโรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น

โดย บจก.เอสโคโพลิส เป็นโบรกเกอร์ซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต ในแพลตฟอร์ม FTIX โดยมีพันธกิจมุ่งเน้นให้เกิดความโปร่งใส่ในการซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำไปชดเชยได้ตามวัตถุประสงค์ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่ Net Zero ต่อไป