Skip to content Skip to footer

โครงการการพัฒนาแอพลิเคชั่นเพื่อการชดเชยคาร์บอนในหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก ครั้งที่ 1/2566

โครงการการพัฒนาแอพลิเคชั่นเพื่อการชดเชยคาร์บอนในหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก ครั้งที่ 1/2566 กิจกรรมลงพื้นที่ปฏิบัติการพัฒนาแอพลิเคชันการซื้อ ขาย คาร์บอนเครดิต สำหรับหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก (ระยะที่ 2) วันที่ 6-8 ตุลาคม 2566 ณ จังหวัดเชียงใหม่

มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน ผนึกกำลังหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดโครงการแข่งขันการพัฒนาแอพลิเคชันเพื่อการชดเชยคาร์บอนในหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก ครั้งที่ 1/2566 ตั้งแต่ 10-11 สิงหาคม 2566 และครั้งนี้เป็นการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ณ จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 6-8 ตุลาคม 2566 โดยนำคณะเยาวชน นิสิต นักศึกษา ที่ได้คะแนนสูงสุดในลำดับต้นๆ จำนวน 29 คน จากกิจกรรมแข่งขันการพัฒนาแอพลิเคชั่นในรอบแรก เข้าทัศนศึกษายังอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้และศึกษาดูงานเกี่ยวกับธุรกิจ Start Up ที่ประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ยังร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัลกรุ๊ป ลงพื้นที่ปฏิบัติการ ณ ตลาดจริงใจ เชียงใหม่เพื่อการศึกษาเรียนรู้ พฤติกรรมการซื้อขายสินค้า และได้พูดคุยกับผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อชักชวนให้ดาวน์โหลดและใช้งานแอพลิเคชั่น เพื่อการชดเชยคาร์บอนแก่นักท่องเที่ยวที่ปัจจุบันมีแนวโน้มเป็นการท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่ปัจจุบันจะมีความเข้าใจในเรื่องการชดเชยคาร์บอนเป็นอย่างดี กิจกรรมที่ตลาดจริงใจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของเยาวชนกลุ่มนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นของการขายคาร์บอนเครดิตในหน่วยย่อยเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในการชดเชยคาร์บอนในสินค้าและบริการที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอย มูลนิธิฯ ตั้งเป้าว่าแอพลิเคชั่นที่เยาวชนเหล่านี้พัฒนาขึ้น จะถูกนำมาใช้งานจริงในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2566 ยาวจนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน 2567 เป็นการลงภาคสนามของกิจกรรมนี้อย่างแท้จริง

การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาระบบการชดเชยคาร์บอนสำหรับหน่วยธุรกิจขนาดเล็กจะช่วยกระตุ้นตลาดคาร์บอนเครดิตในธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งสาธารณะ และสถานประกอบการขนาดเล็ก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมายประเทศไทยในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ.2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีค.ศ.2065

นอกจากกลุ่มเซ็นทรัลกรุ๊ปแล้ว หน่วยงานพันธมิตรที่ทำให้กิจกรรมดีๆ เช่นนี้จับต้องได้ ได้แก่สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) องค์การบริหาร

จัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เอสโคโพลิส จำกัดต่างก็ยินดีให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมโครงการครั้งนี้มาตั้งแต่แรก